โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี และรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพดีและช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตา หรือโรคไตได้
ความดันโลหิตคืออะไร
ความดันโลหิต คือ ความดันในหลอดเลือดแดงที่ประกอบด้วยความดันตัวบนและตัวล่าง ความดันตัวบนเกิดจากความดันขณะหัวใจบีบตัว ความดันตัวล่างคือความดันขณะหัวใจคลายตัว คนปกติจะมีค่าความดันโลหิตประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากวัดได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีความดันโลหิตสูง ซึ่งหากวัดค่าความดันโลหิตได้สูง 1 ครั้ง ควรวัดซ้ำอีกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อวินิจฉัยให้แน่นอนว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจวัดค่าความดันได้สูงเป็นครั้งเป็นคราวหากมีความเครียด กังวล ตื่นเต้น รวมถึงคนที่เพิ่งออกกำลังกายมาใหม่ๆ เพิ่งสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเพิ่งดื่มสุรา อาจวัดค่าความดันโลหิตได้สูงเช่นกัน แต่เมื่อได้พักให้หายเหนื่อย หายเครียด หรือหมดฤทธิ์ของบุหรี่ กาแฟ เครื่องดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์แล้วค่าความดันก็จะลดลงเป็นปกติหากไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
การเตรียมตัวก่อนการวัดความดันโลหิต
– ก่อนวัดความดันประมาณ 30 นาที ไม่ควรดื่มกาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ไม่เครียด ไม่โกรธ
– นั่งพักก่อนวัดความดันประมาณ 5-15 นาที
– หากปวดปัสสาวะควรปัสสาวะก่อนวัดความดัน
– ไม่ควรพูดคุยขณะวัดความดัน
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหากมีน้ำหนักตัวมากเกินไปควรลดน้ำหนักโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ขนมหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็น อาหารทอด อาหารชุบแป้งทอด กะทิ เป็นต้น
2. หลีกเลี่ยงเกลือ อาหารหมักดอง และอาหารตากแห้ง
เช่น เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ผักกาดดอง หอยดอง ปลาร้า ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ไส้กรอก เบคอน แฮม อาหารทานเล่นที่มีเกลือเยอะ เช่น มันฝรั่งทอด ถั่วทอดใส่เกลือ ไม่เติมเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสที่มีรสเค็มในอาหาร ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา หรือเท่ากับน้ำปลาประมาณ 4 ช้อนชา หรือซีอิ้ว 5 ช้อนชา
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค หรือเล่นกีฬาที่ชอบ ครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออาจเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นการออกกำลังกาย เช่น ทำงานบ้าน เดินไปตลาด ซักผ้า ลดการใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ เป็นต้น
4. ไม่สูบบุหรี่หรือยาเส้น
5. ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ หรือดื่มในปริมาณน้อยแต่ไม่ควรเกิน 1-2 แก้วต่อวัน สัปดาห์ละไม่เกิน 5 วัน
6. รับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ
ควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจติดตามความดันโลหิตเป็นระยะๆ ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาหรือไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้หากรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรรับประทานยาเองโดยไม่ได้ตรวจวัดความดันโลหิตหรือไม่ได้พบแพทย์ และไม่ควรเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยๆ
7. รู้จักยาที่รับประทานอยู่
ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคความดันมีหลายชนิด ท่านควรทราบชื่อและขนาดยาที่รับประทานอยู่ หรือมีรายชื่อยาพร้อมขนาดยา และวิธีรับประทานยาเก็บไว้เพื่อประโยชน์ของท่านเอง อย่าจำเพียงลักษณะหรือสีของยา เพราะยาต่างชนิดอาจมีลักษณะคล้ายๆ กันได้
8. การผ่อนคลาย
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรเครียดหรือหงุดหงิด ควรมองโลกในแง่ดี การฝึกสมาธิหรือสวดมนต์อาจช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยควบคุมความดันได้ง่ายขึ้น
ดูต้นฉบับ http://www.siphhospital.com/